ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หมายถึง ประกันภัยที่ทำโดยความสมัครใจของเจ้าของรถ ซึ่งมีความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่าประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ(พ.ร.บ.) เช่น คุ้มครองความเสียหายของรถคันเอาประกัน คุ้มครองผู้ขับขี่และผู้โดยสารภายในรถ คุ้มครองร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเป็นต้น ซึ่งประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้นมีด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ ประกันชั้น 1, 2+, 3+ และประกันชั้น3

ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1

จะมีความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด ทั้งรถและผู้เอาประกัน โดยจุดเด่นของประกันภัยชั้น 1 คือ สามารถเคลมรถได้โดยไม่มีคู่กรณี เช่น ถอยชนเสา ชนฟุตบาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังคุ้มครองกรณีที่รถหาย ไฟไหม้ และภัยธรรมชาติอีกด้วย เหมาะกับผู้ที่เพิ่งถอยรถยนต์ป้ายแดงออกมาใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทั้งทางด้านการขับขี่และการดูแลรักษารถยนต์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มือใหม่หัดขับ” ซึ่งจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ค่อนข้างง่าย หรือผู้ที่ต้องการความคุ้มครองสูงสุด

ประกันภัยรถยนต์ 2+

ให้ความคุ้มครองแก่รถของผู้เอาประกัน แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุที่มีคู่กรณีเป็นยานภาหนะทางบกเท่านั้น หรือเคลมได้ในกรณีที่รถชนรถ นอกจากนี้ยังคุ้มครองในกรณีที่รถหาย และไฟไหม้ด้วย เหมาะกับผู้ที่อยากทำประกันชั้น 1 แต่ติดที่เงื่อนไขไม่สามารถทำได้เนื่องจากรถมีอายุมากเกินเกณฑ์ที่บริษัทประกันกำหนดไว้ หรือผู้ที่อยากจ่ายเงินน้อยแต่ได้ความคุ้มครองเกือบเทียบเท่าประกันรถยนต์ชั้น 1

ประกันภัยรถยนต์ 3+

มีความคุ้มครองเหมือนกับประกัน 2+ คือ คุ้มครองผู้เอาประกันในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกับรถคันอื่น แต่ประกันภัยรถยนต์ 3+ จะไม่คุ้มครองรถหาย หรือไฟไหม้ เหมาะกับผู้มีความเสี่ยงต่อรถหายหรือไฟไหม้น้อย เช่น รถที่ไม่ได้ติดแก๊ส หรือที่จอดรถมีการรักษาความปลอดภัยที่ดี ก็อาจจะทำประกัน 3+ แทน 2+ ได้

ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3

ให้ความคุ้มครองเฉพาะรถของคู่กรณี ไม่มีวงเงินซ่อมรถของผู้ที่เอาประกัน เหมาะกับผู้ที่ขับรถเก่า หรือผู้ที่มีเงินซ่อมรถเองได้ แต่กลัวขับไปเฉี่ยวชนรถของผู้อื่น และผู้ที่ต้องการป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการขับรถไปชนรถคันอื่น โดยผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบค่าซ่อมรถของตนเอง

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประกันรถยนต์ภาคสมัครใจที่กล่าวไปข้างต้นนั้น มุ่งเน้นให้ผู้ที่สนใจทำประกันภัยรถยนต์ได้เข้าใจในประกันภัยรถยนต์ในประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการเลือกทำประกันให้สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าของรถ เพื่อที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงที่มากับการใช้รถได้อย่างเหมาะสม